Main menu
 
    หน้าหลัก
    ประวัติโรงเรียน
    วิสัยทัศน์
    ที่ตั้ง
    บุคลากร
    โครงสร้างการบริหารงาน
    ข้อมูลนักเรียน
    คณะกรรมการสถานศึกษา
    อาคารสถานที่
 
       เวลาในขณะนี้คือ
 
 
       เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
 







 
       จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์
 

 
       ว็บไซต์อื่นที่น่าสนใจ

   

ประวัติโรงเรียนเทศบาลศรีพนมมาศ




                     โรงเรียนพนมมาศพิทยากร ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎรแห่งแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เริ่มปลูกสร้างขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ โดยหลวงศรีพนมมาศ (ยศในขณะนั้น) ผู้ว่าราชการเมืองลับแล (นายอำเภอ) พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรได้ลงมือจัดการปลูกโรงเรียนพักชั่วคราวขึ้นที่ม่อนชิงช้า โดยใช้เครื่องผูกมุงหญ้าคาพื้นฝาเป็นฟากไม้ กว้าง ๑๐ ศอก ยาว ๑๐ วา มีมุขหน้า ๑ มุข หลัง ๒ กว้าง มุขละ ๑๐ ศอกสูงพ้นดิน ๑ ศอก ๑ คืบ สูง ๖ ศอก รูปทรงปั้นหยา ๑ หลัง และได้ล้อมรั้วเป็นขอบขั้นกว้าง ๔๗ วา ยาว ๗๕ วา นายช่างและราษฎรได้ผลัดกันช่วยทำโรงเรียนจนแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนพฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ในการสร้างโรงเรียนหลังดังกล่าว หลวงศรีพนมมาศ นายอำเภอลับแล ได้ออกทรัพย์ส่วนตัวในการจัดซื้อพรรณมะพร้าวและหญ้าคารวมถึงสังกะสีสำหรับมุงอาคารโรงเรียน

                     วันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑๓ รูป มารับฉันภัตตาหารเช้าและเจริญพระพุทธมนต์เปิดอาคารโรงเรียน เวลาบ่ายสองโมงเปิดรับนักเรียน มีนักเรียนจำนวน ๗๕ ราย โดยเจ้าคุณเทพกวี จัดให้นายเผือดมาเป็นครูสอน โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนทองอินทร์วิทยาคม”

                     ในพุทธศักราช ๒๔๕๐ หลวงศรีพนมมาศ ได้สร้างอาคารถาวรโรงเรียนสอนหนังสือไทย โดยเรี่ยรายเงินจากบรรดาข้าราชการแลพ่อค้าราษฎรได้เงิน ๑,๙๓๐ บาท ๑๖ อัฐ และหลวงศรีพนมมาศ ได้ออกเงินส่วนตัวจำนวน ๓,๒๑๒ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕,๑๔๒ บาท ๑๖ อัฐ ในการจัดสร้างโรงเรียน สอนหนังสือไทยขึ้นในที่ของหลวงศรีพนมมาศตำบลม่อนชิงช้า อำเภอลับแล กว้าง ๔ วา ยาว ๑๐ วา ๒ ศอก สูงแต่พื้นที่ถึงเพดาน ๑ วา ๓ ศอก มีมุขกลางด้านหน้ายาว ๒ วา กว้าง ๒ วา ศอก เฉลียงด้านหลังกว้าง ๑ วา ๒ ศอก ยาว ๖ วา ๒ ศอก เสาไม้เต็งรังพื้นและฝาไม้กระยาเลยหลังคามุงกระเบื้อง แล้วเสร็จเมื่อ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ หลวงศรีพนมมาศได้ทูลเกล้าฯถวายรายงานการก่อสร้างโรงเรียนและกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียน และหลวง ศรีพนมมาศกับผู้ที่บริจาคทรัพย์ในการสร้างโรงเรียนนี้ ขอพระราชทานถวายโรงเรียนกับที่ดินโดยยาว ๗ เส้น กว้าง ๒ เส้น ๘ วา ที่ได้ปลูกสร้างโรงเรียนแลต้นผลไม้ซึ่งปลูกไว้ ณ ที่นั้นด้วย เป็นของรัฐบาล

                     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยศเป็น “มกุฎราชกุมาร”ได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานในเขตเมืองกำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ ทุ่งยั้ง และ ลับแล ดังปรากฏในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ความว่า “เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมี ไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อนชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับราชการแลราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่ายวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์นั้น และให้นามว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร"

                     ในพุทธศักราช ๒๔๕๘ กระทรวงธรรมการได้ขยายการศึกษาสำหรับสตรีตามแผนการศึกษาให้เด็กสตรี ได้เรียนภาษาไทยและฝึกการเรือน จัดสรรเงินอุดหนุน ๒,๐๐๐ บาท ขุนพิศาลจินะกิจ (อิ่ม) นายอำเภอลับแลคนที่ ๒ ได้ สร้างอาคารเรียนถาวรขึ้น ณ ทิศใต้สนามโรงเรียนพนมมาศห่างกันช่วยระยะประมาณ ๑๐๐ เมตร ในบริเวณพื้นที่ดิน แห่งเดียวกัน ชื่อว่า"โรงเรียนสตรีสมปองวิทยานาถ" โดยนางเงิน นันตะชา เป็นครูใหญ่คนแรก

                     พุทธศักราช ๒๔๘๔ กระทรวงธรรมการได้ปฏิรูปเป็นกระทรวงศึกษาธิการ จัดระบบการศึกษาเป็นสหศึกษาคือให้นักเรียนชายหญิงเรียนวิชาสามัญรวมชั้นเดียวกัน ให้เงินอุดหนุน ๔,๐๐๐ บาท รื้อถอน โรงเรียนพนมมาศพิทยากรกับโรงเรียนสตรีสมปองวิทยานาถ ทั้ง ๒ แห่ง ออกจากกลางสนามปัจจุบันแล้วสร้างอาคารไม้สักล้อมด้วยลูกกรงไม้สักเป็นห้องโถง เป็นชั้นเรียนเด็กเล็กชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ยุบรวม ครูนักเรียนชายหญิงอยู่ร่วมในโรงเรียนเดียวกัน ชื่อ "โรงเรียนประชาบาลพนมมาศพิทยากร" ตำบลยางกะได อำเภอลับแล สังกัดกองการประถมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายวิโรจน์ กุลศิริ เป็นครูใหญ่ถึงคนสุดท้ายคือ นางประไพ แก้วมา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖

                     ในวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๖ ได้โอนมาอยู่ในสังกัดเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ สำนักการศึกษาท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยและเปิดขยายชั้นประถมศึกษาตอนปลายตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๐๖ ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๗๘ และได้ชื่อว่า "โรงเรียนเทศบาลศรีพนมมาศพิทยากร"

                     พุทธศักราช ๒๕๔๘ ในการนำของนายเจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ และประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับความเห็นชอบจากสภาเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ให้เปิดขยายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ ซึ่งเทศบาลตำบลศรีพนมมาศได้ให้การสนับสนุนด้านการจัดการศึกษาแก่โรงเรียนเป็นอย่างดียิ่ง ปรากฏเป็นรูปธรรมผลงาน สามารถเป็นต้นแบบ ขยายผล ให้แก่หน่วยงานอื่น ดังเห็นได้จาก ปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ นายเจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนม ได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่นระดับประเทศด้านการบริหารจัดการศึกษา จากกรมส่งเสริมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศได้รับรางวัลชนะเลิศองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษาในสถานศึกษาดีเด่น จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

                     ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ นายเจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ ได้ดำเนินการหารือและจัดการประชามติทุกภาคส่วน จนได้มีการประกาศการเปลี่ยนนามอันเป็นมงคลนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ อันเป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระราชทานนามไว้ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๐ ว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร" และในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ เดือนพฤษภาคม มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับโรงเรียนพนมมาศพิทยากร เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ ๖ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งภายหลังคือ มูลนิธิสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ ๖ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพื่อเป็นการเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดและเผยแผ่แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณลักษณะพลเมืองที่พึงประสงค์ ให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งครูอาจารย์และบุคลากร ผู้ล้วนเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

                     ปัจจุบันโรงเรียนพนมมาศพิทยากร เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ๑ ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จำนวน ๓๕ ห้องเรียน โดยมีนางเพ็ชชรี อ้นทองทิม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา มีข้าราชการครูปฏิบัติการสอนทั้งสิ้น ๔๔ คน
ครูอัตราจ้าง ๑๒ คน และพนักงานจ้างแม่บ้านภารโรง จำนวน ๑๓ คน


 

 
 
  ออกแบบและพัฒนาระบบโดยนายฐิติพันธ์  กุลศิริ
phanommas.com © 2021 | development and design by thitiphunpom@hotmail.com